Accessibility Tools

A A A

messenger  facebook  youtube

Google Translate Widget by Infofru

Author Site Reviewresults

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ลงพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ติดตามข้อร้องเรียน กรณีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี หลุดจากแผน PDP 2024 พร้อมทั้งติดตามเรื่องราคาปาล์มน้ำมัน


วันที่ 29 มิถุนายน 2567

นายบันดาล สถิรชวาล รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ให้การต้อนรับ นายพีรพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในโอกาสลงพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยมี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุราษฎร์ธานี ตลอดจน หัวหน้าส่วนราชการ และประชาชนในพื้นที่ รอต้อนรับเป็นจำนวนมาก และมีการถือป้ายแสดงออกถึงการสนับสนุนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าในพื้นที่แทนโรงไฟฟ้าเก่าที่ได้รื้อถอนไปก่อนหน้านี้
ภารกิจแรกเป็นการลงพื้นที่ ที่บริเวณสร้างที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี ต.เขาหัวควาย อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี หลังได้รับรายงานจาก ส.ส. ในพื้นที่ว่า ประชาชนในพื้นที่ดังกล่าว มีความกังวลกรณีแผนการสร้างโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี ไม่ได้อยู่ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2567-2580 (PDP 2024) ทั้งที่โรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี ได้รับการอนุมัติบรรจุแผน PDP 2018 REV1 และได้ปรับพื้นที่พร้อมในการก่อสร้างแล้ว ซึ่งสหภาพแรงงาน กฟผ. และ ตัวแทนองค์การบริการส่วนตำบลทั้ง 6 แห่ง ของอำเภอพุนพิน เข้ายื่นหนังสือ “ขอให้นำแผนสร้างโรงไฟฟ้ากลับเข้า PDP 2024 ตามเดิม” ต่อรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน
นางณิชารีย์ กิตตะคุปต์ ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การสร้างโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานีได้ผ่านการศึกษาด้านความมั่นคงของการใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ซึ่งปัจจุบันในภาคใต้ไฟไม่เพียงพอต้องนำส่งไฟฟ้ามาจากภาคกลางหากไม่มีการสร้างโรงไฟฟ้าแห่งนี้ในอนาคตจะส่งผลกระทบต่อการใช้ไฟฟ้าของภาคใต้อย่างรุนแรง อีกทั้งยังพบว่าการสร้างโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี มีต้นทุนที่ถูก ทั้งในส่วนของการก่อสร้างอาคารและการวางท่อแก๊สที่ใกล้กับโรงผลิตแก๊ส ที่อำเภอขนอม จ.นครศรีธรรมราช ตรงตามกรอบของ PDP อีกทั้งยังผ่านกระบวนการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมและผ่านการเห็นชอบของประชาชนในพื้นที่ภาคใต้แล้วด้วย
ด้านนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค กล่าวว่า ขอให้ประชาชนมั่นใจเพราะไม่มีใครที่จะไม่สร้างความมั่นคงในการใช้ไฟฟ้า และราคาไม่แพงแต่ในความเป็นจริง ทางคณะรัฐมนตรีได้สอบถามที่มาที่ไปของแผนเดิมปี 2018 REV1 ถึงที่มาของแผนการสร้างโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี ร่วมถึงแหล่งเงินทุนที่จะสร้างและเป็นทุนที่ไม่ทำให้ค่าไฟฟ้าแพง แต่กลับพบว่าส่วนที่รับผิดชอบ 3 ฝ่าย ยังไม่สามารถใช้คำตอบได้ จึงไม่สามารถที่จะสั่งให้ทำหรือไม่ทำได้เช่นกัน ส่วนในเรื่องของแผน PDP หากพบปัญหาก็สามารถปรับเปลี่ยนได้เช่นกัน ส่วนแผนการสร้างโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานีตรวจสอบแล้วพบว่าแผนยังอยู่แต่คงต้องเลื่อนเวลาออกไปเพราะส่วนที่รับผิดชอบยังไม่สามารถตอบได้ว่าเอาเงินงบประมาณจากไหน
ทั้งนี้ ภาคใต้มีความต้องการใช้ไฟ 3,000 เมกะวัตต์ สามารถผลิตในภาคใต้ได้ประมาณ 2,400 เมกะวัตต์ ขาดอีก 600 เมกะวัตต์ รับไฟฟ้ามาจากภาคกลาง ซึ่งรองนายกรัฐมนตรี ยืนยันว่าแผนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานียังอยู่แน่นอน แต่ตอนนี้คงต้องรอเวลา และไฟฟ้ายังคงใช้ได้ตามปกติ ส่วนรับผิดชอบยังสามารถบริหารจัดการได้ครอบคลุมพื้นที่เพราะการใช้ไฟฟ้าไม่ได้สูงตลอดเวลา และไม่กระทบค่าไฟฟ้าของประชาชน
จากนั้น รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี ว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ลงพื้นที่ ที่บริษัท ปาล์มทองคำ จำกัด ซึ่งเป็นโรงสกัดน้ำมันปาล์ม เพื่อพบปะกับเกษตรกร ตัวแทนผู้ประกอบการ โดยมี นายวิชาญ จุนทวิจิตร นายอำเภอพระแสง พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ ที่เกี่ยวข้องร่วมต้อนรับ
นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค กล่าวพบปะกับเกษตรกร โดยระบุว่า นายกรัฐมนตรีได้ห่วงใยสถานการณ์ด้านราคาปาล์มน้ำมัน ที่กระทบต่อเกษตรกร และได้มอบหมายให้ ครม.เศรษฐกิจ เร่งหาแนวทางแก้ไข โดยกระทรวงพลังงาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ กระทรวงพาณิชย์ ได้ร่วมกันแก้ปัญหาดังกล่าว ซึ่งมีทั้งเรื่องที่ดำเนินการแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการออกประกาศให้ผู้ค้ามาตรา 7 ต้องซื้อน้ำมันไบโอดีเซล B100 ในราคาไม่ต่ำกว่า 30 บาทต่อลิตร ส่วนกระทรวงพาณิชย์คณะอนุกรรมการบริหารจัดการสมดุลน้ำมันปาล์มได้ขอให้โรงงานสกัดน้ำมันปาล์มรับซื้อผลปาล์มในราคาไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 4.80 บาท ให้สอบคล้องกับราคา CPO ควบคู่กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่เร่งพัฒนาการผลิตปาล์มน้ำมันของเกษตรกรให้มีคุณภาพ ยกระดับเปอร์เซ็นการสกัดน้ำมันปาล์ม ส่วนเรื่องหลังจากนี้ ก็จะเป็นการแก้ไขปรับปรุงเรื่องกฎหมาย ที่จะออกมาเพื่อกำกับดูแล กระบวนการรับซื้อและราคา ให้สอดคล้องกับตลาด ไม่ให้เกิดการเอาเปรียบ ซึ่งจะทยอยดำเนินการต่อจากการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับน้ำมันเชื้อเพลิง ขณะที่ตัวแทนผู้ประกอบการ ได้ฝากให้รองนายกรัฐมนตรี ได้ช่วยกำกับดูแลการกดราคาของโรงงานรีไฟน์ หรือโรงกลั่นน้ำมันปาล์ม ที่ไม่ให้เอาเปรียบโรงสกัดน้ำมัน ส่วนตัวแทนสภาเกษตรกรฯ ได้ขอให้ มีการชะลอการยกเลิกการผสมไบโอดีเซลในน้ำมันดีเซล แม้ทราบดีว่าต้นทุนในปัจจุบันจะสูง แต่หากถอดออกจะกระทบปาล์มน้ำมันทั้งระบบ ซึ่งรองนายกรัฐมนตรี ได้รับเรื่องเพื่อนำกลับไปหาแนวทางแก้ไข แต่ยืนยันว่า ยังไม่มีการยกเลิกในขณะนี้ แต่มีกฎหมายกำหนดให้ยกเลิกในปี 2569 ซึ่งระหว่างนี้ ก็ได้มีคณะทำงานที่กำลังศึกษา การใช้น้ำมันปาล์มเพื่อผลิตหรือผสมสินค้าอื่น ที่มีมูลค่าสูงเพื่อทดแทนกรณียกเลิกการผสมไบโอดีเซล ก่อนจะเดินทางไปยัง ลานเทรับซื้อปาล์มน้ำมัน จำเริญพาณิชย์ ซึ่งเป็นลานเท ปาล์มน้ำมันคุณภาพ ที่มีการคัดเลือกผลปาล์ม ไม่รับซื้อปาล์มดิบจากเกษตรกร โดยรองนายกรัฐมนตรี ได้สอบถามการดำเนินงานและชมการคัดเลือกทลายปาล์ม ของคนงาน และฝากให้ขยายผลไปยังลานเทอื่นๆเพื่อพัฒนาปาล์มทั้งระบบต่อไป

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

เปิดแล้วอย่างยิ่งใหญ่ "งานช้อปเพลินใจ OTOP ทั่วไทยที่เมืองคนดี" ยกทัพสินค้า OTOP บุกเมืองสุราษฎร์

 

วันที่ 28 มิถุนายน 2567 เวลา 17.00 น. ณ เวทีกลางสนามหน้าศาลากลางจังหวัดสุราษฎร์ธานี

นายมนตรา พรมสินธุ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นประธานในพิธีเปิดงาน “ช้อปเพลินใจ OTOP ทั่วไทย ที่เมืองคนดี” โดยนายกรองศักดิ์ โอยสวัสดิ์ พัฒนาการจังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวรายงาน โดยมีนายจรัญ อินทสระ ผู้ตรวจราชการกรมการพัฒนาชุมชน หัวหน้าส่วนราชการระดับจังหวัด พัฒนาการอำเภอ คณะกรรมการเครือข่าย OTOP ภาคใต้ คณะกรรมการเครือข่าย OTOP จังหวัดสุราษฎร์ธานี ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ และแขกผู้มีเกียรติอีกมากมาย ร่วมเป็นเกียรติในพิธีเปิดงานฯ

นายมนตรา พรมสินธุ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ประธานในพิธีเปิด ได้กล่าวว่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นศูนย์กลางการค้า การท่องเที่ยว และการลงทุนของภาคใต้ตอนบน เป็นจังหวัดที่มีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วในทุกด้าน เศรษฐกิจมีความมั่นคง ทำให้มีการจ้างงานเพิ่มขึ้นในธุรกิจ และสถานประกอบการต่าง ๆ จำนวนมาก ในปี 2566 จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีรายได้จากการท่องเที่ยว อันดับ 5 ของประเทศ รายได้ 86,588 ล้านบาท จำนวนนักท่องเที่ยว 7.61 ล้านคน แม้ปัจจุบันการจัดแสดงและจำหน่ายสินค้าในรูปแบบ Online จะได้รับความนิยม แต่การจัดงาน OTOP แบบ Onsite ยังคงมีความสำคัญ ช่วยสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการรายใหม่ การจัดงาน “ช้อปเพลินใจ OTOP ทั่วไทย ที่เมืองคนดี” จึงเป็นตัวอย่างงาน OTOP แบบ Onsite ที่ประสบความสำเร็จ กระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างโอกาสและส่งเสริมศักยภาพของจังหวัดสุราษฎร์ธานี

ผมเชื่อว่าการจัดงานในครั้งนี้ มากกว่างาน OTOP ทั่วไป เพราะงานนี้เปรียบเสมือนเวทีที่เปิดกว้าง มอบโอกาสให้ผู้ผลิต ประกอบการ OTOP เศรษฐกิจและชุมชนได้พัฒนาเติบโตและก้าวไปสู่ความมั่นคงอย่างยั่งยืน การจัดงาน “ช้อปเพลินใจ OTOP ทั่วไทย ที่เมืองคนดี” จึงเปรียบเสมือนกลไกสำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างโอกาส และนำไปสู่ “เศรษฐกิจฐานรากมั่นคง ชุมชนเข้มแข็งอย่างยั่งยืน”

และได้กล่าวในช่วงท้ายว่า ขอเป็นกำลังใจ และขอขอบคุณทุกภาคีเครือข่าย ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน สื่อมวลชน ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ ที่สนับสนุนและมีส่วนร่วมในการจัดงาน “ช้อปเพลินใจ OTOP ทั่วไทย ที่เมืองคนดี” ในครั้งนี้ และขอให้การจัดงานประสบผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ มียอดจำหน่ายที่ดีกันทุก ๆ คน

ก่อนพิธีเปิดงานฯ ได้มีการแสดงแฟชั่นโชว์ผ้าไทย จากผู้ประกอบการประเภทผ้าจังหวัดสุราษฎร์ธานีและคณะกรรมการสตรี มาสร้างสีสันให้กับงานในวันนี้ จากนั้น ประธานในพิธีและแขกผู้มีเกียรติ ได้เยี่ยมชมบูธ และทักทายให้กำลังใจกับผู้ผลิต ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมงานฯ

จังหวัดสุราษฎร์ธานี กำหนดจัดงาน "ช้อปเพลินใจ OTOP ทั่วไทย ที่เมืองคนดี" ระหว่างวันที่ 27 มิถุนายน – 6 กรกฎาคม 2567 ณ สนามหน้าศาลากลางจังหวัดสุราษฎร์ธานี อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยนายเจษฎา จิตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี มอบหมายให้สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสุราษฎร์ธานีร่วมกับคณะกรรมการเครือข่าย OTOP จังหวัดสุราษฎร์ธานี และคณะกรรมการเครือข่าย OTOP ภาคใต้ โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อให้ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP กลุ่มปรับตัวสู่การพัฒนากลุ่ม D เครือข่ายสัมมาชีพชุมชน เครือข่ายโคกหนองนา กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี และชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี มีช่องทางการตลาดและมีรายได้เพิ่มขึ้น เป็นการสร้างเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ ไม่ใช้งบประมาณของราชการในการจัดงานฯ แต่อย่างใด

ภายในงาน "ช้อปเพลินใจ OTOP ทั่วไทย ที่เมืองคนดี" ได้มีการจัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ OTOP และโซนตลาดสัมมาชีพชุมชน รวมทั้งสิ้น จำนวน 193 บูธ ซึ่งประกอบด้วยสินค้า OTOP ประเภทอาหารและเครื่องดื่ม จำนวน 24 บูธ ผ้าและเครื่องแต่งกายจำนวน 51 บูธ เครื่องประดับจำนวน 15 บูธ ของใช้ จำนวน 38 บูธ สมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร จำนวน 11 บูธ ประเภทชวนชิม จำนวน 14 บูธ และโซนตลาดสัมมาชีพชุมชน จำนวน 10 บูธ โดยมียอดจำหน่ายสะสมจำนวน 2 วัน รวม 3,318,220 บาท

ทั้งนี้ ในงานมีการจัดแสดงและจำหน่ายสินค้าในเต็นท์โดมติดแอร์ ซึ่งการจัดแสดงและจำหน่ายสินค้าในงานเริ่มตั้งแต่ 10.00 น ของทุกวัน ปิดจำหน่าย 21.00 น ทุกวันจะมีกิจกรรมส่งเสริมการขายทุกวัน อาทิ เช่น กิจกรรมนาที คอนเสริต์บ่าวต๊ะ จากค่ายไหทองคำ และแจกรางวัลรางวัลใหญ่ภายในงานฯ เป็นต้น ในนามของจังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสุราษฎร์ธานี คณะกรรมการเครือข่าย OTOP ภาคใต้ และคณะกรรมการเครือข่าย OTOP จังหวัดสุราษฎร์ธานี ขอเชิญชวน ชม ชิม ช๊อป สินค้าชุมชน ของดีมีคุณภาพจากทั่วประเทศได้ ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 6 กรกฎาคม 2567 ณ สนามหน้าศาลากลางจังหวัดสุราษฎร์ธานี

 

จังหวัดสุราษฎร์ธานีประชุมหน่วยงานด้านความมั่นคงและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เน้นย้ำป้องกันอาชญากรรมทุกรูปแบบ สร้างความเชื่อมั่นแก่ประชาชนและนักท่องเที่ยว

 

วันที่ 28 มิถุนายน 2567

นายมนตรา พรมสินธุ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ประชุมคณะกรรมการรักษาความมั่นคงและความสงบเรียบร้อยจังหวัดสุราษฎร์ธานี ครั้งที่ 6/2567 ณ ห้องเมืองคนดี ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อหารือและติดตามผลการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ทั้งในส่วนของตำรวจ ทหาร ฝ่ายปกครอง และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานในรอบเดือนที่ผ่านมา อาทิ คดีสำคัญ คดีความมั่นคง และความเคลื่อนไหวภาคประชาชนในพื้นที่ การจัดระเบียบสังคมและปราบปรามผู้มีอิทธิพล การกระทำผิดกฎหมายว่าด้วยป่าไม้ การป้องกันและปราบปรามการลักลอบสินค้าผิดกฎหมายศุลกากร กฎหมายสรรพสามิต ปัญหาแรงงานต่างด้าว การค้ามนุษย์ และการอำนวยความยุติธรรมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในกระบวนการยุติธรรม เป็นต้น

ซึ่งจากรายงานในที่ประชุมพบว่า การกระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับการป่าไม้ในห้วงเดือนที่ผ่านมา มีคดีเกิดขึ้นทั้งสิ้น 18 คดี แยกเป็นไม้หวงห้าม 2 คดี บุกรุกแผ้วถามป่า 16 คดี จับกุมผู้กระทำความผิดได้ 1 คน ขณะที่การกระทำผิดกฎหมายสรรพสามิตมีทั้งสิ้น 34 คดี ประเภทสินค้าผิดกฎหมาย ได้แก่ สุรา ยาสูบ ไพ่ และน้ำมัน จำนวนค่าปรับรวม 1,453,406.58 บาท และกระทำผิดกฎหมายด้านการประมงมีทั้งสิ้น 4 คดี ในพื้นที่อำเภอเมืองและท่าฉาง ได้ผู้ต้องหา 4 คน

ในการนี้ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้มอบนแนวทางการปฏิบัติงาน พร้อมกับเน้นย้ำและขอความร่วมมือให้เจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เข้มงวดกวดขันในการเฝ้าระวังและป้องกันการก่อคดีอาชญากรรมทุกรูปแบบ โดยเฉพาะตามแหล่งท่องเที่ยวและสถานที่สำคัญต่างๆ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยแก่นักท่องเที่ยวและประชาชน.

จังหวัดสุราษฎร์ธานี ประชุมหัวหน้าส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อติดตามผลการปฏิบัติราชการ และมอบนโยบาย ข้อสั่งการประจำเดือนมิถุนายน 2567

วันที่ 28 มิถุนายน 2567 เวลา 09.30 น. ที่ศาลากลางจังหวัดสุราษฎร์ธานี

นายเจษฎา จิตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นประธาน การประชุมหัวหน้าส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อติดตามผลการปฏิบัติราชการ และรับมอบนโยบาย ข้อสั่งการประจำเดือนมิถุนายน 2567 โดยมี หัวหน้าส่วนราชการ ทั้งในส่วนภูมิภาคและส่วนกลางในจังหวัดสุราษฎร์ธานี นายอำเภอ ตลอดจน องค์กรอิสระของรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และองค์กรเอกชนในจังหวัดสุราษฎร์ธานี เข้าร่วมโดยพร้อมเพรียง
โดยก่อนเริ่มการประชุม ได้มีพิธีมอบรางวัลการประกวดกลุ่มยุวเกษตร ที่ปรึกากลุ่มยุวเกษตรและสมาชิกกลุ่มยุวเกษตรดีเด่น 8 รางวัล และ มอบเกียรติบัตรรางวัลความประพฤติดี ประจำปี 2567 โดยสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสุราษฎร์ธานี 4 รางวัล จากนั้น ได้มีการนำเสนอคลิปวีดิโอการนำเสนอการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ของจังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่องค์การสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย โดยผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี และ คลิปวีดิโอการปาฐกถา เกี่ยวกับการดำเนินกิจกรรมเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าหัวและพระมหากษัตริย์ไทย ในพิธีส่งมอบภาพวาดสตรีทอาร์ท เฉลิมพระเกียรติฯ ณ โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี
จากนั้นได้เข้าสู่วาระการประชุม ประกอบด้วย การติดตามการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่าย ประจำปี 2567 ของจังหวัดสุราษฎร์ธานี และ ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องได้นำเสนอโครงการ/กิจกรรม ที่จะเกิดขึ้นในเดือนกรกฎาคม 2567 อาทิ การจัดทำน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์ของจังหวัดสุราษฎร์ธานี เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 72 พรรษา 28 กรกฎาคม 2567 ในระหว่างวันที่ 4 – 8 กรกฎาคม 2567 ณ วัดพระบรมธาตุไชยาราชวรวิหาร กิจกรรมรัฐพิธีในเดือนกรกฎาคม การรายงานความคืบหน้าการขับเคลื่อนจังหวัดสุราษฎร์ธานีสู่การขึ้นทะเบียนมรดกโลกใน การจัดงานเทศกาลเงาะโรงเรียนนาสาร GI ระหว่างวันที่ 4 – 16 กรกฎาคม 2567 ผลการส่งเสริมผู้ประกอบการโอทอป ในงาน OTOP Midyear การรายงานความคืบหน้าโครงการพระราชทานในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “โคกหนองนาแห่งน้ำใจและความหวัง กรมราชทัณฑ์” โดยเรือนจำไชยา
ด้านรองผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้เน้นย้ำ ถึงการเตรียมความพร้อมการจัดพระราชพิธีที่สำคัญของจังหวัด โดยกำชับให้หัวหน้าส่วนราชการ เข้าร่วมกิจกรรมโดยพร้อมเพรียง และให้แต่ละส่วนราชการที่มีภารกิจเกี่ยวเนื่องกับโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ หรือได้รับมอบหมายให้ดำเนินกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติฯ ในปีมหามงคลนี้ ได้รวบรวมภาพ และผลการดำเนินงานส่งให้สำนักงานจังหวัดฯ นอกจากนี้ ยังได้ขอความร่วมมือทุกภาคส่วน ช่วยกันสนับสนุนเช่าบูชา วัตถุมงคลเพื่อตั้งกองทุนการขับเคลื่อนการขึ้นทะเบียนมรดกโลกของจังหวัดสุราษฎร์ธานีต่อไป

Copyright © 2021  www.suratthani.go.th

AChecker accessibility checker compliance: WCAG 2.0 (Level AAA) Valid CSS!