Accessibility Tools

A A A

messenger  facebook  youtube

Google Translate Widget by Infofru

Author Site Reviewresults

การประชุมคณะกรรมการพิจารณาเรื่องราวขออนุญาตประกอบกิจการตามมาตรา 9 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ประจำจังหวัดสุราษฎร์ธานี ครั้งที่ 1/2566

วันที่ 1 ธันวาคม 2566  เวลา 13.30 น. ณ หัองประชุมตาปี ชั้น 4 ศาลากลางจังหวัดสุราษฎร์ธานี 

นายมนตรา พรมสินธุ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพิจารณาเรื่องราวขออนุญาตประกอบกิจการตามมาตรา 9 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ประจำจังหวัดสุราษฎร์ธานี ครั้งที่ 1/2566 โดยมีผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุม
การประชุมดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อพิจารณากรณี สำนักงานที่ดินจังหวัดสุราษฎร์ธานี สาขาพระแสง ได้ส่งเรื่องราว กรณี องค์การบริหารส่วนตำบลสินปุน อำเภอพระแสง จังหวัดสุราษฎร์ธานี ยื่นความประสงค์ขอใช้และขอถอนสภาพที่ดินสาธารณประโยชน์ ตามหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงเลขที่ 31669 ตำบลสินปุน อำเภอพระแสง จังหวัดสุราษฎร์ธานี แปลง “แปลงที่สาธารณประโยชน์ หมู่ที่ 2,4" บางส่วน เพื่อใช้เป็นที่ทําการองค์การบริหารส่วนตำบลสินปุน เป็นศูนย์กลางในการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ขององค์การบริหารส่วนตำบลสินปุน รองรับการถ่ายโอน กิจกรรมการบริการสาธารณะให้กับประชาชน ตั้งศูนย์ราชการขององค์การบริหารส่วนตำบลสินปุน เนื้อที่ขอใช้ที่ดินทั้งหมดประมาณ 48-1-06 ไร่

การประชุมคณะทำงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับจังหวัด จังหวัดสุราษฎร์ธานี ครั้งที่ 3/2566

วันที่ 1 ธันวาคม 2566  เวลา 09.30 น.  ณ หัองประชุมเมืองคนดี ศาลากลางจังหวัดสุราษฎร์ธานี ชั้น 5

นายมนตรา พรมสินธุ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นประธานการประชุมคณะทำงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับจังหวัด จังหวัดสุราษฎร์ธานี ครั้งที่ 3/2566  โดยมีผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุม
การประชุมดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อติดตามผลการประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของจังหวัด เทียบกับปีฐานปี พ.ศ.2562 ซึ่งพบว่าจังหวัดสุราษฎร์ธานีมีการปล่อยก๊าชเรือนกระจก โดยเรียงลำดับจากสูงสุดไปน้อยที่สุด คือ ภาคการขนส่ง ร้อยละ105.35 ภาคพลังงาน ร้อยละ 80.42 การจัดการของเสีย ร้อยละ 14.23 ภาคกระบวนการอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ ร้อยละ 0.38 และภาคการเกษตรกรรม ป่าไม้ และการใช้ประโยชน์ เป็นภาคส่วนที่มีการกักเก็บก๊าชเรือนกระจก และผลสรุปการคาดการณ์ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอนาคต และพิจารณาแผนการลดก๊าซเรือนกระจกของจังหวัดสุราษฎร์ธานีและรายงานสภาพการณ์ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของจังหวัดสุราษฎร์ธานี

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ลงพื้นที่สุราษฎร์ธานี ติดตามการแก้ปัญหาหนี้ลูกค้าของธนาคารออมสิน ยืนยัน รัฐบาลเตรียมมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ทั้งในและนอกระบบ อย่างจริงจัง

วันที่ 1 ธันวาคม 2566  ณ ธนาคารออมสินภาค 16 อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี

นายเจษฎา จิตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ให้การต้อนรับ นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งลงพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อติดตามมาตรการแก้ไขหนี้ตามนโยบายรัฐบาล เพื่อลูกหนี้รายย่อยธนาคารออมสิน ในโครงการเฉลิมพระเกียรติเนื่องในวันนวมินทรมหาราช โดยธนาคารออมสินภาค 16 เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ของธนาคารที่ประสบปัญหาการผ่อนชำระ หรือบางส่วนที่มีสถานะเป็นหนี้เสีย (NPLs) เพื่อไกล่เกลี่ย ปรับโครงสร้างหนี้ หรือหามาตรการช่วยเหลืออื่นๆ ลดการฟ้องร้อง โดยมี นายศักดิ์สิทธิ์ สุนทรกุล ผู้อำนวยการธนาคารออมสินภาค 16 ผู้บริหารธนาคารออมสินในพื้นที่ หัวหน้าส่วนราชการในสังกัดกระทรวงการคลัง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุราษฎร์ธานี ตลอดจนส่วนราชการในพื้นที่ ร่วมต้อนรับ
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ระบุว่า การจัดโครงการดังกล่าว เป็นโครงการของธนาคารออมสิน ที่ดำเนินการทั่วประเทศ เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ของธนาคาร ทั้งการลดภาระหนี้ หรือลดอัตราการผ่อนชำระ ลดปัญหาหนี้เสีย โดยรัฐบาล มีนโยบายสำคัญที่จะแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนให้กับประชาชน ซึ่งปัจจุบันมีตัวเลขราว 90% ของ GDP หรือเกือบ 16 ล้านล้านบาท รวมถึง หนี้นอกระบบที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าที่กฎหมายกำหนด และมีกระบวนการติดตามทวงถามหนี้ อย่างผิดกฎหมายหรือใช้ความรุนแรง โดยขณะนี้ กระทรวงมหาดไทย ได้เริ่งเปิดให้ลงทะเบียนตั้งแต่ ตั้งแต่ 1 ธันวาคม 2566 – 29 กุมภาพันธ์ 2567 เพื่อนำลูกหนี้เหล่านี้ เข้าสู่ระบบ โดยมีธนาคารของรัฐ อย่างธนาคารออมสิน และ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ เป็นกลไกช่วยเหลือ ส่วนหนี้ในระบบ ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อบ้าน รถ หรือหนี้สินข้าราชการ ทางรัฐบาลก็จะมีมาตรการแก้ไขปัญหาออกมาด้วย
ส่วนกรณีปัญหาการเข้าถึงสินเชื่อของสถาบันการเงิน ทำให้ต้องไปพึ่งพาหนี้นอกระบบ รัฐบาล ได้พยายามดึงเจ้าหนี้นอกระบบ ให้เข้าสู่ระบบ ด้วยการตั้งเป็นพิโคไฟแนนซ์ หรือ ไมโครไฟแนนซ์ ซึ่งถูกกฎหมาย ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ง่าย ในอัตราดอกเบี้ยที่เป็นธรรม และมีเงื่อนไขการอนุมัติน้อยกว่าธนาคาร จึงเป็นอีกทางออกที่จะปัญหาหนี้นอกระบบได้ในระยะยาว

ข่าว/ภาพ – ส.ปชส.สุราษฎร์ธานี

จังหวัดสุราษฎร์ธานี เปิดศูนย์อำนวยการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบตามนโยบายรัฐบาล ผ่านไปไม่ถึง 3 ชั่วโมง มีผู้มาลงทะเบียนทั้ง 19 อำเภอของจังหวัด รวมกว่า 120 คน ผู้ว่าฯ สุราษฎร์ ชวนลูกหนี้ มาลงทะเบียน เพื่อเข้าสู่กระบวนการช่วยเหลือของรัฐ ให้ได้รับความเป็นธรรม

วันที่ 1 ธันวาคม 2566

นายเจษฎา จิตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของ ศูนย์อำนวยการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบตามนโยบายรัฐบาล ซึ่งตั้งอยู่ที่ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดสุราษฎร์ธานี ชั้น 1 ศาลากลางจังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อติดตามการรับลงทะเบียนแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบตามนโยบายของรัฐบาลเป็นวันแรก ซึ่งมีผู้มาลงทะเบียนที่ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดสุราษฎร์ธานี 7 ราย และหลังลงทะเบียนจะมีการจำแนกรายชื่อลูกหนี้ไปตามอำเภอภูมิลำเนา โดยภาพรวมพบว่า หลังจากเปิดศูนย์ได้ไม่ถึง 3 ชั่วโมง มีลูกหนี้นอกระบบใน 19 อำเภอของจังหวัดสุราษฎร์ธานี ลงทะเบียนมาแล้ว 123 คน
ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า รัฐบาลมีความตั้งใจที่ช่วยเหลือแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบให้ประชาชนได้รับความเป็นธรรม ลดปัญหาการเรียกเก็บดอกเบี้ยเกินอัตรา และการทวงหนี้รุนแรง ซึ่งในระยะแรก ศูนย์อำนวยการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบตามนโยบายรัฐบาล จะเปิดรับลงทะเบียนเป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่ 1 ธันวาคม 2566 – 29 กุมภาพันธ์ 2567 ก่อนนำเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ย และนำลูกหนี้กลับเข้าสู่ระบบ จึงอยากขอเชิญชวน ลูกหนี้นอกระบบ ให้เร่งลงทะเบียนในช่องทางต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางมาด้วยตนเองที่ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด ที่ว่าการอำเภอทุกแห่ง หรือ การลงทะเบียนออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ https://debt.dopa.go.th สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ผ่านสายด่วนศูนย์ดำรงธรรม 1567 ตลอด 24 ชั่วโมง
ทั้งนี้ จากการสอบถาม ลูกหนี้ที่มาลงทะเบียน พบว่า ส่วนใหญ่เป็นพ่อค้าแม่ค้ารายย่อย ซึ่งประสบปัญหาขาดสภาพคล่องในการประกอบอาชีพหรือดำรงชีวิต และไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อของสถาบันการเงินได้ เนื่องจากมีประวัติเครดิตบูโร จึงต้องหันไปพึ่งเงินกู้นอกระบบ ซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยตั้งแต่ ร้อยละ 10 - ร้อยละ 20 ต่อวัน เมื่อผ่อนชำระไม่ไหว ก็จะไปกู้อีกรายมาจ่ายอีกราย จนหนี้พอกพูน หรือ บางรายถูกยึดทรัพย์สินสิ่งของ แม้กระทั่งอุปกรณ์ประกอบอาชีพไว้เป็นประกัน ซึ่งผู้ที่มาลงทะเบียนต่างรู้สึกมีกำลังใจ ที่จะได้รับมาตรการช่วยเหลือจากรัฐบาล และหากได้รับโอกาส เช่น เข้าถึงสินเชื่อของธนาคาร ก็พร้อมที่จะทำงานเพื่อชำระหนี้

Copyright © 2021  www.suratthani.go.th

AChecker accessibility checker compliance: WCAG 2.0 (Level AAA) Valid CSS!