วันที่ 10 กันยายน 2567 เวลา 09.00 น. ที่ริมแม่น้ำตาปี บริเวณท่าน้ำ ทรส.เทศบาลเมืองท่าข้าม อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี
นายเจษฎา จิตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นประธานปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ โครงการร่วมสนับสนุนการอนุรักษ์และปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำในแม่น้ำตาปี เนื่องในวันประมงแห่งชาติ ประจำปี 2567 จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยมี หน่วยงานสังกัดกรมประมง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี และเทศบาลเมืองท่าข้าม ผู้นำท้องที่ท้องถิ่น ตลอดจน ประชาชนในพื้นที่ร่วมกิจกรรม
การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ มีการปล่อยพันธุ์ปลาน้ำจืดประมาณ 400,000 ตัว ประกอบด้วย ปลากดเหลือง 100,000 ตัว และปลากินพืช 300,000 ตัว ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดสุราษฎร์ธานี และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย โรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี เพื่อร่วมกันรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักถึงคุณค่าของทรัพยากรสัตว์น้ำ อนุรักษ์ฟื้นฟู เพิ่มพูนปริมาณสัตว์น้ำในแหล่งน้ำ ให้มีความอุดมสมบูรณ์มากขึ้น ให้สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืน และเพื่อให้หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอชน ประชาชนทั่วไปได้มีส่วนร่วมในการปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ บริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำ สร้างแหล่งอาหารโปรตีนจากสัตว์น้ำ ก่อให้เกิดอาชีพด้านการประมงเพิ่มพูนรายได้ให้กับประชาชนในท้องถิ่น
นอกจากนี้ สำนักงานประมงจังหวัดสุราษฎร์ธานี ยังได้จัดนิทรรศการให้ความรู้เกี่ยวกับปลาหมอคางดำ ที่กำหลังระบาดอยู่ในหลายพื้นที่ของประเทศไทย ขณะที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีการพบปลาหมอคางดำแล้ว ใน 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอท่าชนะ และ อำเภอไชยา บริเวณคลองปากน้ำ ชายฝั่งทะเล พร้อมทั้ง นำเมนู ปลาหมอคางดำแดดเดียว ปลาหมอคางดำทอดเกลือ มาให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี และ ผู้เข้าร่วมกิจกรรมชิม ซึ่งทุกคนต่างพุดเป็นเสียงเดียวกันว่า รสชาติดี ไม่คาว โอกาสนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้เชิญชวนให้ชาวสุราษฎร์ธานี โดยเฉพาะพื้นที่ ที่พบปลาหมอคางดำ ให้ช่วยกับจับมาประกอบอาหาร เพื่อลดปริมาณในแหล่งน้ำธรรมชาติ
ด้าน นายนพดล จินดาพันธ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดสุราษฎร์ธานี ยังให้ข้อมูลว่า ปลาหมอคางดำบริโภคได้ ปลอดภัย แต่ด้วยลักษณะทางพันธุกรรม ที่ตัวไม่ใหญ่มาก กินอาหารได้หลากหลาย และทนต่อสภาพสิ่งแวดล้อม สภาพความเค็ม รวมถึง ขยายพันธุ์รวดเร็วด้วยการออกใข่ และตัวผู้จะอมไว้ในปากก่อนฟักเป็นตัว จึงปลอดภัยจากนักล่า ดังนั้น กรมประมงจึงได้ประกาศกำหนดพื้นที่การระบาดของปลาหมอคางดำ ซึ่งหากมีการครอบครองปลาหมอคางดำแบบมีชีวิต นอกเขตการระบาด จะมีโทษปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือ จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่หากพบว่า มีการนำไปปล่อยในแหล่งน้ำ จะมีโทษปรับไม่เกิน 2 ล้านบาท หรือ จำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ