วันที่ 23 ธันวาคม 2565 ตลอดทั้งวัน ได้มีหลายหน่วยงาน องค์กร ร่วมปฏิบัติการ ค้นหาผู้สูญหาย จากเหตุเรือหลวงสุโขทัยอับปาง ตามแนวชายฝั่งตั้งแต่ อ.ไชยา ถึง อ.ท่าชนะ ระยะทางประมาณ 39 กิโลเมตร อาทิ ชุดปฏิบัติการอินทรีย์เวหา กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับ ชมรมพารามอเตอร์ จ.สุราษฎร์ธานี นำร่มบิน (พารามอเตอร์) จำนวน 10 เครื่องบินตรวจสอบ
และในเวลาประมาณ 16.00 น. นายวิชวุทย์ จินโต ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ลงพื้นที่ ติดตามการเตรียมความพร้อมจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการค้นหาผู้ประสบภัยเรือหลวงสุโขทัย ที่บริเวณชายหาดสำเร็จ หมู่ที่ 5 ตำบลท่าชนะ อำเภอท่าชนะ จ.สุราษฎร์ธานี โดยมีนายบุญเรือง หลงละลวด หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสุราษฎร์ธานี นายสำนวนทองศรี นายอำเภอท่าชนะ นายณรงค์ หลักกำจร ประชาสัมพันธ์จังหวัดสุราษฎร์ธานี พร้อมเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ตำรวจน้ำ ตำรวจท้องที่ และ อาสาสมัครกู้ภัยมูลนิธิกุศลศรัทธาสุราษฎร์ธานี ได้จัดเตรียมไว้เป็นฐานปฏิบัติการให้เครื่องอากาศยานไร้คนขับ(UAV) ของกองทัพเรือใช้เพื่อค้นหาผู้สูญหาย ซึ่งโปรแกรมซาแมพ คำนวนทิศทางลมและกระแสน้ำเคลื่อนไหวเข้ามาในเขตพื้นที่ อ.ท่าชนะ อ.ไชยา และอ.ท่าฉาง ซึ่งทางศรชล.ภาค 2 เตรียมนำกำลังพลและยุทโธปกรณ์เข้ามาร่วมค้นหาในพื้นที่ ประกอบด้วย ยานพาหนะทางน้ำ 4 ลำ ได้แก่ เรือ Air boat เรือ Mud Motor เรือยางตรวจการณ์ท้องแข็ง และเจ็ทสกี เรือในบัญชีกำลังของ ศรชล.ภาค 2 ร่วมกับเรือของเครือข่ายภาคประมงและประชาชนในพื้นที่อ่าวบ้านดอน จ.สุราษฎร์ธานี
ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ในฐานะ ผอ.ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล)จังหวัดสุราษฎร์ธานี เปิดเผยว่า จากข้อมูลแผนที่กระแสน้ำ คาดว่าผู้ประสบภัยจากเรือหลวงสุโขทัยอับปาง จะเข้ามาในเขตพื้นที่ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ในวันนี้ จึงได้มีคำสั่งให้เจ้าท่าภูมิภาคทุกสาขา แจ้งศูนย์ควบคุมการแจ้งเข้าออกเรือประมง ขอความร่วมมือเรือประมงทุกชนิด หากพบผู้ประสบภัยขอให้เข้าการช่วยเหลือทันทีและขอความร่วมมือในการบันทึกภาพไว้เป็นหลักฐาน
และมีคำสั่งไปยังพื้นที่อำเภอติดชายทะเล ประกอบด้วย ท่าชนะ ไชยา ท่าฉาง พุนพิน ดอนสัก เกาะสมุย และเกาะพงัน ประสานขอความร่วมมือประมงชายฝั่งและชาวบ้านในพื้นที่ ในการช่วยติดตามหรือค้นหาผู้สูญหาย และหากพบวัสดุอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับเรือหลวงสุโขทัย เช่น แพชูชีพ เสื้อชูชีพ หรืออุปกรณ์เครื่องใช้อื่นๆ ให้แจ้งให้ทางราชการทราบทันที
นายวิชวุทย์ กล่าวว่า จากกรณีที่พบเสื้อชูชีพเปล่าลอยอยู่ในทะเลห่างจากเกาะเต่า อ.เกาะพะงัน 25 ไมล์ทะเลไปทางทิศใต้ จึงทำให้เป็นไปได้ว่า จะมีผู้สูญหายถูกกระแสน้ำทะเล พัดมาในเขตชายฝั่งทะเลของ จ.สุราษฎร์ธานี จึงสั่งการให้เร่งตั้งศูนย์ฯ ระดมกำลังค้นหาและเตรียมทีมแพทย์ฉุกเฉิน ซึ่งเรายังคงมีความหวังจะพบผู้รอดชีวิต โอกาสนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้มอบเครื่องดื่มชูกำลัง กาแฟ น้ำดื่ม เพื่อเป็นกำลังใจให้กับผู้ปฏิบัติงานด้วย
และระหว่างลงพื้นที่ ได้รับรายงานว่า มีชาวบ้าน พบชูชีพสีส้ม จำนวน 6 ตัว ลอยมาติดที่ชายหาด ที่บ้านหนองปรือ หมู่ที่ 8 ต.ท่าชนะ จึงรีบไปตรวจสอบ เบื้องต้นคาดว่า เป็นเสื้อชูชีพของเรือประมง เพราะไม่มีสัญลักษณ์ของกองทัพเรือ รวมถึง 4 ใน 6 ตัวเป็นเสื้อชูชีพพื้นฐาน ไม่สามารถใช้ในเรือหลวงได้ หรือ เรือใหญ่ได้ อย่างไรก็ตาม ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้ขอบคุณชาวบ้าน ผู้นำท้องถิ่น ที่ช่วยเป็นหูเป็นตา และแจ้งเบาะแส ซึ่งการพบเสื้อชูชีพของเรือสินค้าเข้ามายังจุดดังกล่าว ทำให้เราทราบว่าทิศทางลมมาทางที่กำหนดเป้าหมายไว้ ซึ่งวันที่ 24-26 ธ.ค.จะมีกระแสลมพัดสอบเข้ามายังบริเวณร่องมรสุมในพื้นที่บริเวณหาด ตั้งแต่อำเภอท่าชนะ ไปจนถึง อำเภอไชยา จึงได้ลงพื้นที่ติดตามการตั้งศูนย์ที่บริเวณหาดกำนัน ตำบลตะกรบ อำเภอไชยา อีกหนึ่งจุด ด้วยความหวังว่าจะมีลูกเรือที่ประสบภัยมาตามกระแสน้ำเข้ามาในเขตพื้นที่ดังกล่าว