วันที่ 4 ธันวาคม 2567 เวลา 08.30 น.
นายบันดาล สถิรชวาล รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ให้การต้อนรับนายศักดิ์ชาย ตันเจริญ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาติดตามผลการดำเนินงานและศึกษาแนวทางแก้ไขปัญหาช้างป่าอย่างยั่งยืน รวมทั้งมาตราการเยียวยาความเสียหายให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ในโอกาสนำคณะลงพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีเพื่อศึกษาดูงานเกี่ยวกับ “แนวทางการแก้ไขปัญหาช้างป่าในพื้นที่กลุ่มป่าท่าชนะและกลุ่มป่าคลองแสง - เขาสก และประชุมหารือร่วมกับส่วนราชการ และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ณ ห้องเมืองคนดี ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนต่อไป
ทั้งนี้จากรายงานในที่ประชุมพบว่า ประชากรช้างป่าในพื้นที่อนุรักษ์ในท้องที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี รวมทั้งสิ้นจำนวน 395 ตัว อยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกรุง 100 ตัว เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองยัน 100 ตัว เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสง 150 ตัว อุทยานแห่งชาติเขาสก 15 ตัว และอุทยานแห่งชาติใต้ร่มเย็น 30 ตัว ขณะที่ความเสียหายที่เกิดจากช้างป่าในท้องที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ปี พ.ศ.2565 – 2567 ในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ได้รับความเสียหาย 115 ไร่ 3 งาน 88 ตารางวา พืชผลอาสิน อาทิ ปาล์มน้ำมัน ยางพารา มะพร้าว ผลไม้ จำนวน 2,841 ตัน เกิดเหตุ 489 ครั้ง อำเภอที่เกิดเหตุสูงสุด คือ กาญจนดิษฐ์ ท่าชนะ และพนม ส่วนในเขตพื้นที่รักษาพันธุ์สัตว์ป่าและเขตห้ามล่าสัตว์ป่า พืชผลอาสินปาล์มน้ำมัน ยางพารา เสียหาย 217 ต้น เกิดเหตุ 67 ครั้ง ในท้องที่อำเภอบ้านตาขุน และคีรีรัฐนิคม
ส่วนแนวทางการแก้ไขปัญหา ในส่วนของจังหวัดสุราษฎร์ธานี มีแผนการสนับสนุนอุปกรณ์ สนับสนุนประจำชุดเฝ้าระวังและผลักดันช้างป่า เพิ่มจำนวนและประสิทธิภาพเครือข่ายเฝ้าระวังข้างป่าและสัตว์ป่าออกนอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์ในพื้นที่ชุมชนรอบแนวเขตพื้นที่อนุรักษ์ที่มีปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่า การจัดทำแนวป้องกันช้างป่า และมีการนำระบบบริการแบบเบ็ดเสร็จ หรือ One stop service มาใช้เพื่อลดขั้นตอนการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ขณะที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้จัดทำแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาช้างป่าแห่งชาติ พ.ศ.2567 – 2571 มีแผนงานและกิจกรรมการแก้ไขปัญหาช้างป่าที่สร้างผลกระทบต่อราษฎรทั้งประเทศ โดยกำหนดกรอบการดำเนินงานภายใต้มาตรการแก้ไขปัญหาช้าง 6 ด้าน ที่คณะกรรมการอนุรักษ์และจัดการช้าง ได้มีมติเห็นชอบเมื่อคราวประชุมคณะกรรมการอนุรักษ์และจัดการช้าง ครั้งที่ 2/2566 เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2566 เพื่อบรรเทาปัญหาช้างป่าที่ออกนอกพื้นที่อนุรักษ์ ลความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินของราษฎร รวมทั้งก่อให้เกิดการอนุรักษ์และการจัดการช้างป่าผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนอย่างยั่งยืน