วันที่ 3 ธันวาคม 2567 เวลา 13.30 น. ที่ห้องประชุมตาปี ศาลากลางจังหวัดสุราษฎร์ธานี
นายบันดาล สถิรชวาล รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ และ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุมกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) ผ่านระบบสื่อสารทางไกลจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยมีนายภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ผู้บริหาร ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในส่วนกลาง ตลอดจน ผู้บริหาร และส่วนราชการในจังหวัดภาคใต้ ร่วมประชุม เพื่อติดตามสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ การให้ความช่วยเหลือตลอดจน นำเสนอข้อมูลแบบจำลองสภาพอากาศเพื่อการเตือนภัยแก่ประชาชนในช่วงเดือนธันวาคมนี้
รัฐบาลมีความห่วงใยต่อสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นและส่งผลกระทบต่อประชาชนเป็นอย่างมาก และได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งช่วยเหลือและเยียวยาผู้ประสบภัยโดยเร็ว ซึ่งเมื่อวันที่ 29 พ.ย. ที่ผ่านมา กรมบัญชีกลางได้อนุมัติขยายวงเงินทดรองราชการในอำนาจผู้ว่าราชการจังหวัด 6 จังหวัด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส จังหวัดละ 50 ล้านบาท จากเดิม 20 ล้านบาท รวมเป็น 70 ล้านบาท เพื่อใช้ช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนและดูแลประชาชนจากเหตุอุทกภัย ซึ่งในที่ประชุมได้มีรายงานภาพรวมสถานการณ์อุทกภัย การบริหารจัดการน้ำ และแนวโน้มสถานการณ์เริ่มคลี่คลายลงบ้าง การให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยทำได้ครอบคลุมมากขึ้นเนื่องจากหลายพื้นที่ระดับน้ำลดลง จากปริมาณฝนที่ลดลง ขณะที่ ปภ. ได้ระดมเครื่องจักรกลสาธารณภัยจากทั่วประเทศ ลงไปสนับสนุนการช่วยเหลือน้ำท่วมภาคใต้ รวมกว่า 680 หน่วย ทั้งเครื่องสูบน้ำระยะไกล เครื่องสูบส่งน้ำ รถปฏิบัติการเคลื่อนย้ายผู้ประสบภัย รถผลิตน้ำดื่ม รถประกอบอาหารพร้อมอุปกรณ์ รถบรรทุกน้ำ รถกู้ภัยเคลื่อนที่เร็ว เรือชนิดต่าง ๆ รวมไปถึงสะพานเบลีย์ ที่ใช้เชื่อมต่อพื้นที่ตัดขาด และเฮลิคอปเตอร์ KA-32 1 ลำ พร้อมทีมนักบิน เพื่อร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่อพยพ เคลื่อนย้าย และช่วยเหลือผู้ประสบภัย การขนย้ายลำเลียงวัสดุอุปกรณ์และสิ่งของช่วยเหลือ รวมถึงแจกจ่ายอาหารและน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคให้แก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ อย่างไรก็ตาม ในช่วงวันที่ 3 - 5 ธ.ค. 67 มีแนวโน้มจะเกิดฝนตกหนักตั้งแต่จังหวัดชุมพร ลงไป และมีฝนตกหนักมาก ในพื้นที่จังหวัดสงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส รวมถึงในช่วงวันที่ 11-14 ธ.ค. 67 คาดว่า ภาคใต้จะมีฝนเพิ่มขึ้นอีกระลอก จึงได้สั่งการให้จังหวัดและศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัย เฝ้าระวังและเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยให้จัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศ ปริมาณฝน เตรียมความพร้อมจุดอพยพและศูนย์พักพิงให้พร้อมใช้งานเมื่อมีความจำเป็นต้องอพยพประชาชนไปยังพื้นที่ปลอดภัย