วันที่ 24 กันยายน 2567 เวลา 10.00 น.
นายเจษฎา จิตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นประธานในพิธีมอบเงินพระราชทานขวัญถุงกองทุนแม่ของแผ่นดินจังหวัดสุราษฎร์ธานี ประจำปี 2567 ณ อาคารศูนย์กลางการประชุมสัมมนาภาคใต้ตอนบน ศาลากลางจังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ นายอำเภอ พัฒนาการอำเภอ เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชน และผู้แทนจากหมู่บ้านกองทุนแม่ของแผ่นดิน เข้าร่วมพิธีอย่างพร้อมเพรียง
นายสมพร ใจชื่น ประธานเครือข่ายกองทุนแม่ของแผ่นดินจังหวัดสุราษฎร์ธานี เปิดเผยว่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้ดำเนินโครงการกองทุนแม่ของแผ่นดิน มาตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปัจจุบัน มีหมู่บ้านกองทุนแม่ของแผ่นดิน รวมจำนวน 451 หมู่บ้าน โดยมีการจัดพิธีมอบเงินพระราชทานขวัญถุงให้แก่หมู่บ้านกองทุนแม่ของแผ่นดินทุกปี เพื่อเป็นสิริมงคลและขวัญกำลังใจในการหลอมรวมความสามัคคีเพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติดในหมู่บ้าน” ในปีนี้ จังหวัดสุราษฎร์ธานีได้พัฒนาความเข้มแข็งของหมู่บ้าน และขยายพลังความดีเพื่อเอาชนะยาเสพติดอย่างต่อเนื่อง จนได้รับเงินพระราชทานขวัญถุงกองทุนแม่ของแผ่นดินเพิ่มขึ้นในปี 2567 จำนวน 20 หมู่บ้าน
นายเจษฎา จิตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า เพื่อสนองพระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ได้พระราชทานราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เพื่อเป็นทุนตั้งต้นแห่งความดีงาม เมื่อหมู่บ้านกองทุนแม่ของแผ่นดิน ได้รับมอบเงินพระราชทานขวัญถุงกองทุนแม่ของแผ่นดินจากจังหวัดแล้ว ขอให้หมู่บ้าน จัดพิธีสมโภชเงินพระราชทานขวัญถุงกองทุนแม่ของแผ่นดิน และกำหนดกิจกรรมการจัดหาเงินกองทุนประเภท “ทุนปัญญา ทุนศรัทธา” เพิ่มเพื่อนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ สำหรับกิจกรรมป้องกัน และแก้ไขปัญหายาเสพติดของแต่ละหมู่บ้านเป็นอันดับแรก แล้วจึงนำไปแก้ปัญหาอื่นๆ ที่เป็นความเดือดร้อนของหมู่บ้านต่อไป โดยให้เป็นไปตามปรัชญาของกองทุนแม่ของแผ่นดิน
“กองทุนแม่ของแผ่นดิน” เป็นกระบวนการที่มุ่งเน้นยุทธศาสตร์พระราชทาน“รู้รัก สามัคคี” ให้พสกนิกรพึ่งพาความเข้มแข็งของตนเอง ในการร่วมขจัดภัยยาเสพติด บนพื้นฐานให้อภัยทางสังคม ให้ความรู้รัก สามัคคี และการสร้างความสมานฉันท์ของคนในชุมชน ร่วมกันเอาชนะปัญหาอุปสรรคต่างๆ ด้วยแนวทางสันติ การสร้างพลังแห่งความดีงามเหล่านี้หากปรากฏมากขึ้น จะทำให้สามารถพลิกฟื้นหมู่บ้านชุมชนที่อ่อนแอ ให้กลายเป็นหมู่บ้านชุมชนที่เข้มแข็ง ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน การทุ่มเทแรงกาย แรงใจในการป้องกัน และแก้ไขปัญหายาเสพติด และขยายพลังแห่งความดี ต่อยอดพัฒนาไปสู่ด้านต่างๆ เช่น การส่งเสริมอาชีพ ส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียง ฟื้นฟูวัฒนธรรม สืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่น และปกป้องรักษาทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อนำพาหมู่บ้านชุมชนไปสู่สังคมแห่งคุณธรรมอย่างแท้จริง.