วันที่ 31 สิงหาคม 2565
นายสุทธิพงษ์ คล้ายอุดม รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ไดรับมอบหมายจากนายวิชวุทย์ จินโต ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี เข้าร่วมประชุมรับฟังความคิดเห็นโครงการศึกษาปรับปรุงกรอบแนวทางและค่าเป้าหมายแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี โดยสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ จัดขึ้น ณ โรงแรมไดมอนพลาซ่า อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อให้ประชาชนและภาคส่วนที่เกี่ยวของในพื้นที่ได้แสดงความคิดเห็น เพื่อนำไปรับปรุงแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580 ช่วงที่ 2 พ.ศ.2566-2580) และเป็นข้อเสนอแนะต่างๆ เพื่อเป็นแนวทางแนวทางในการขับเคลื่อนกลยุทธ์ แผนงาน และประเด็นช่องว่างที่ต้องดำเนินการเพิ่มเติม เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการขับเคลื่อนให้บรรลุเป้าประสงค์ของแผนต่อไป
โดยแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) ได้ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2562 เพื่อเป็นกรอบแนวทางในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาทรัพยากรน้ำของประเทศในระยะ 20 ปี ทั้งภัยแล้ง อุทกภัย และคุณภาพน้ำ โดยยึดหลักแนวทางตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อสร้างความสมดุลระหว่างการพัฒนาแหล่งน้ำ การอนุรักษ์ฟื้นฟู และการบริหารจัดการเชิงลุ่มน้ำทั้งระบบ ตั้งแต่ตันน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนแม่ยุทธศาสตร์ชาติในประเด็นที่ 19 การบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 และแผนการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรน้ำ ภายใต้กรอบแนวทางการพัฒนา 6 ด้าน ประกอบด้วย การจัดการน้ำอุปโภคบริโภค การสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต การจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย การจัดการคุณภาพน้ำและอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ การอนุรักษ์ฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำที่เสื่อมโทรมและป้องกันการพังทลายของดิน และการบริหารจัดการ
สำหรับแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี มีการดำเนินการมาแล้วในช่วงระยะเวลาหนึ่งตั้งแต่ปี 2561-2565 ในการดำเนินการตามแผนต่างๆ ผลการประเมินในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา พบว่ามีบางกลยุทธ์/แผนงาน ที่ยังดำเนินการไม่บรรลุตามเป้าหมาย มีบางกลยุทธยังไม่มีการขับเคลื่อน นอกจากนี้บางกลยุทธ์ควรต้องมีการปรับปรุงเนื่องจากแรงผลักในการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เช่น โควิด-19 ที่ทำให้เกิดปรากฎการณ์แรงงานคืนถิ่นหลายล้านคนสู่บ้านเกิด นำไปสู่ความต้องการใช้น้ำดินน้ำใช้ และน้ำเพื่อการเกษตรสร้างรายได้กับแรงงานและครอบครัว , ภาวะสงคราม ที่ทำให้เกิดวิกฤตอาหารโลก นำไปสู่ความต้องการพืชอาหารบางประเภทและการใช้น้ำที่มากขึ้นในบางพื้นที่ , การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการน้ำ และภัยธรรมชาติ ทำให้เกิดภัยพิบัติที่รุนแรงขึ้น โดยเฉพาะอุทกภัยและภัยแล้ง , น้ำในเศรษฐกิจหมุนเวียนและการฟื้นตัว ซึ่งเป็นแนวคิดใหม่ของโลกที่สอดคล้องกับการดำเนินงาน ด้านเศรษฐกิจสีเขียว BCG ของประเทศไทย , การใช้มาตรการการแก้ปัญหาที่อาศัยธรรมชาติเป็นพื้นฐาน ซึ่งจะดำเนินงานร่วมกับโครงสร้างเดิมที่มีอยู่แต่สามารถรับมือกับความไม่แน่นอน จากภาวะโลกรวมในอนาคตได้ และการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการบริหารจัดการน้ำสมัยใหม่ หรือ digitaltransformation
นอกจากนี้ ในปี 2565 นี้ ประเทศไทยมีคณะกรรมการลุ่มน้ำทั้ง 22 ลุ่มน้ำตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 ซึ่งเป็นโครงสร้างที่ขับเคลื่อนการบริหารจัดการน้ำในระดับพื้นที่ เพื่อให้แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี มีความสมบูรณ์ครบถ้วน สอดคล้องกับทิศทางนโยบายการพัฒนาประเทศ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในปัจจุบัน.