วันที่ 9 ธันวาคม 2567
นายบันดาล สถิรชวาล รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี พร้อมด้วย นายบุญเรือง หลงละวาด หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสุราษฎร์ธานี หัวหน้าส่วนราชการ/หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุมติดตามสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ และการให้ความช่วยเหลือ ผ่านระบบประชุมทางไกล VCS จากทำเนียบรัฐบาล ซึ่งมี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ตลอดจนผู้บริหารจากส่วนกลาง ร่วมประชุม เพื่อมอบนโยบายและข้อสั่งการในการรับมือสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ หลังกรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่าในช่วงวันที่ 12 – 16 ธันวาคม 2567 จะมีฝนตกหนักถึงหนักมาก ในหลายจังหวัดภาคใต้โดยเฉพาะภาคใต้ฝั่งตะวันออกและภาคใต้ตอนล่าง
โดยที่ประชุมได้ให้ 5 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดนครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี ยะลา และจังหวัดนราธิวาส ได้รายงานสถานการณ์ล่าสุด ผลกระทบกับประชาชน และการให้ความช่วยเหลือพื้นที่ประสบอุทกภัยในระลอกแรก ซึ่งภาพรวมทุกหน่วยงาน ได้บูรณาการกำลัง ร่วมกับภาคเอกชนและภาคประชาสังคม ให้การช่วยเหลือประชาชนบรรเทาความเดือดร้อนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มผู้พิการ ผู้ป่วยติดเตียงและผู้สูงอายุ และยังได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงพระราชทานความช่วยเหลือในรูปแบบต่างๆ มั้งถุงยังชีพพระราชทาน โรงครัวพระราชทาน ซึ่งการช่วยเหลือจะให้ความสำคัญกับการดูแลความปลอดภัยด้านชีวิตเป็นลำดับแรก มีการอพยพประชาชนไปยังศูนย์พักพิงไปอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย พร้อมทั้ง มีหน่วยแพทย์บริการดูแลสุขภาพ ควบคู่กับการเร่งฟื้นฟูหลังน้ำลด
ด้านนายกรัฐมนตรี ได้เน้นย้ำ เรื่องการเบิกจ่ายเงินเยียวยา ผู้ได้รับผลกระทบครัวเรือนละ 9,000 บาท โดยขอให้เร่งสำรวจและนำเสนอผ่านกระบวนการคัดกรอง ระดับอำเภอและระดับจังหวัด เพื่อจ่ายเงินให้ถึงมือประชาชนเร็วที่สุด และหากติดขัดเรื่องการโอนเงิน ผ่านระบบพร้อมเพย์ ขอให้รีบส่งข้อมูลมายังส่วนกลาง เพื่อหาแนวทางแก้ไขโดยด่วน ขณะที่ เงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือประชาชนในสถานการณ์ฉุกเฉินซึ่งแต่ละจังหวัดมีอยู่ 20 ล้านบาท และมีมติ ครม.เพิ่มให้บางจังหวัดอีก 50 ล้านบาท เป็น 70 ล้านบาท ขอให้แต่ละจังหวัด ใช้จ่ายในการช่วยเหลือประชาชนอย่างคุ้มค่า มีประสิทธิภาพ และต้องถูกต้องตามระเบียบราชการ พร้อมทั้งฝากความห่วงใยถึงประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นผู้นำในการแก้ปัญหาให้ประชาชน ซึ่งที่ผ่านมาทำได้ดีมากแล้ว ขอเป็นกำลังใจให้ และหากต้องการการสนับสนุน เช่น เครื่องจักร เครื่องสูบน้ำ ยานพาหนะทั้งทางบกทางน้ำ ขอให้รีบแจ้งมายังส่วนกลาง เพื่อจัดส่ง เคลื่อนย้าย จากพื้นที่อื่นๆเข้าไปช่วย
ขณะที่ จังหวัดสุราษฎร์ธานี แม้ยังไม่มีสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ แต่ได้มีข้อสั่งการให้เตรียมพร้อมรับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 12 – 16 ธันวาคม 2567 พร้อมทั้ง เร่งเบิกจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ซึ่งมีอยู่ประมาณ 100 ครัวเรือนให้เร็วที่สุด ตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี และเน้นย้ำให้อำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์สภาพอากาศ ปริมาณฝน สถานการณ์น้ำ และประเมินความเสี่ยงการเกิดอุทกภัย น้ำท่วมขัง และดินโคลนถล่มในพื้นที่เสี่ยงภัย เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยเป็นไปด้วยความรวดเร็วทันต่อสถานการณ์