Accessibility Tools

A A A

messenger  facebook  youtube

Google Translate Widget by Infofru

Author Site Reviewresults

จังหวัดสุราษฎร์ธานีร่วมติดตามความพร้อมจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ “เครือข่ายเดือนภัยพิบัติชุมชนเพื่อพึ่ง (ภาฯ) เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน”

 

วันที่ 2 พฤษภาคม 2567

นายนันธวัช เจริญวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ประชุมร่วมกับผู้เกี่ยวข้องผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ – ระบบซูม เพื่อเตรียมการโครงการอบรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้เครือข่ายเตือนภัยพิบัติชุมชนเพื่อพึ่ง (ภาฯ) 2567 ณ ห้องนางยวน ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อติดตามและรับทราบความก้าวหน้าการดำเนินโครงการฯ ด้านต่างๆ อาทิ ด้านพิธีการ ด้านที่พัก ด้านอาคารสถานที่ เป็นต้น เพื่อให้การดำเนินโครงการเป็นไปด้วยความเรียบร้อย บรรลุวัตถุประสงค์ที่วางไว้

สำหรับการอบรมเชิงปฏิบัติการ “เครือข่ายเดือนภัยพิบัติชุมชนเพื่อพึ่ง (ภาฯ) เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน” ปี 2567 กำหนดจัดขึ้น ณ อาคารสิริประภา เขื่อนรัชชประภา และชุมชนปากชวด อำเภอบ้านตาขุน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ระหว่างวันที่ 14 – 16 พฤษภาคม 2567 เพื่อเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติด้านต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น โดยศาสตราจารย์พิเศษ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย รองประธานกรรมการที่ปรึกษา และประธานกรรมการบริหารมูลนิธิเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย เป็นประธานเปิดพร้อมเยี่ยมชมผลิตภัณฑ์ชุมชน ในวันอังคารที่ 14 พฤษภาคม 2567 ตั้งแต่เวลา 09.00 น. เป็นต้นไป.

ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี มอบนโยบายกำนันผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำท้องที่อำเภอพุนพิน ย้ำ หน้าที่หลักของคนมหาดไทย คือการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ให้ประชาชน ห่วงปัญหายาเสพติดในหมู่บ้าน/ชุมชน ต้องร่วมกันป้องกันแก้ไข ตั้งแต่ระดับครอบครัวและชุมชน

 

วันที่ 2 พฤษภาคม 2567

นายเจษฎา จิตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ลงพื้นที่อำเภอพุนพิน และเข้าร่วมการประชุมหัวหน้าส่วนราชการระดับอำเภอ ผู้นำท้องที่กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ตลอดจน เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เพื่อมอบนโยบายการปฏิบัติงาน โดยมี นายวิสูตร อินทรกำเนิด นายอำเภอพุนพิน ตลอดจน หัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน สารวัตรกำนันและแพทย์ประจำตำบล เข้าร่วมโดยพร้อมเพรียง
ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้มอบนโยบายการปฏิบัติงาน โดยเน้นย้ำว่า ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ ทั้งของกระทรวงมหาดไทย ตลอดจน ส่วนราชการในพื้นที่ ต้องบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ให้กับประชาชน เป็นหน้าที่หลัก ที่ต้องไม่บกพร่อง เมื่อมีปัญหาข้อร้องเรียนต้องเร่งแก้ไข ควบคู่กับการดูแลชีวิตความเป็นอยู่และสร้างความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ให้ประชาชนใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุข ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของกระทรวงมหาดไทย โดยเน้นหนักในเรื่องของการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่และความปลอดภัยของประชาชน ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วนในหมู่บ้าน/ชุมชน และต้องสร้างความเข้มแข็งตั้งแต่สถาบันครอบครัว เพื่อให้ลูกหลานปลอดภัยจากยาเสพติด และต้องช่วยกันสอดส่องดูแลในพื้นที่ของตนเอง เพราะกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และเจ้าหน้าที่ระดับพื้นที่ จะรู้ข้อมูลมากกว่าหน่วยอื่นๆ จึงต้องเป็นกำลังหลัก เช่นเดียวกับปัญหาอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหนี้นอกระบบ ที่รัฐบาลมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย เป็นหน่วยงานหลักในการแก้ไข ที่จะต้องสร้างความเข้าใจและมีส่วนร่วมในการนำเจ้าหนี้และลูกหนี้ เข้าสู่ระบบไกล่เกลี่ยให้มากที่สุด รวมถึง ได้เน้นย้ำ เรื่องปัญหาการลักลอบเล่นการพนัน อบายมุขและการกระทำผิดกฎหมายอื่นๆ ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ให้ความสำคัญกับการป้องกันและปราบปราม ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากข้าราชการเจ้าหน้าที่ทุกคน ในการเป็นหูเป็นตา แจ้งเบาะแสกับฝ่ายปกครอง ตำรวจ และหากพบว่ามีข้าราชการเจ้าหน้าที่ ทุกระดับเข้าไปยุ่งเกี่ยว จะเอาผิดอย่างเด็ดขาดไม่มีละเว้น

สำนักงานกองทุนสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)เข้าพบหารือรองผู้ว่าฯสุราษฎร์ธานีเพื่อหารือการเสริมสร้างสุขภาวะที่ดีของสุราษฎร์ธานี

 

วันที่ 2 พฤษภาคม 2567 เวลา 10.30 น. ณ ห้องประชุมสำนักงานจังหวัด ชั้น 2 ศาลากลางจังหวัดสุราษฎร์ธานี

นายเจษฎา จิตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานีมอบหมายให้ นายบันดาล สถิรชวาล รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ร่วมหารือกับคณะทำงานจากสำนักงานกองทุนสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)ในประเด็นหารทำงานทหารบูรณาการกลไกความร่วมมือเพื่อเสริมสร้างสุขภาวะจังหวัดสุราษฎร์ธานีระยะที่ 2

ตามที่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ สถาบันนโยบายสาธารณะวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ โดยคณะศิลปศาสตร์และวิทยา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตสุราษฎร์ธานี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินงานโครงการกลไกบูรณาการความร่วมมือเพื่อเสริมสร้างสุขภาวะจังหวัดสุราษฎร์ธานี (กสส.) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนารูปแบบความร่วมมือการเสริมสร้างสุขภาพระดับจังหวัด ให้เกิดรูปแบบร่วมทุนระหว่าง สสส.และหน่วยงานท้องถิ่นระดับจังหวัด ทุนดังกล่าวแบบการทำงานเสมสร้างสุขภาพเพื่อแก้ปัญหาสำคัญระดับจังหวัด โดยเฉพาะประเด็นปัญหาปัจจัย กลุ่มเป้าหมายสำคัญและสถานการณ์อื่นๆที่เกี่ยวข้อง และกำหนดให้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตสุราษฎร์ธานี เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการโครงการ

โดยการดำเนินดังกล่าวจะมีกิจกรรมหลักได้แก่ การศึกษาและจัดตั้งคณะกรรมการสุขภาพระดับจังหวัดที่บูรณาการภาคีทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการทำงาน
ส่งเสริมสุขภาพ การศึกษารูปแบบของการร่วมสนับสนุนทุนเพื่อขับเคลื่อนกิจกรรมเสริมสร้างสุขภาพตามแผนของคณะกรรมการสุขภาพระดับจังหวัดทบทวนสถานการณ์เชิงประเด็นที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์สุขภาพระดับจังหวัด ประกอบด้วย ความมั่นคงทางอาหาร ความมั่นคงทางมนุษย์ ความมั่นคงทางสุขภาพ และความมั่นคงทางฐานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะประเด็น สมุนไพร โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) และผู้สูงอายุกระดับการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ ประกอบด้วย ความมั่นคงทางอาหาร ความมั่นคงทางมนุษย์ ความมั่นคงทางสุขภาพ และความมั่นคงทางฐานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะประเด็นสมุนไพร โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) และผู้สูงอายุ และสร้างกระบวนการมีส่วนร่วม กระบวนเรียนรู้ และบูรณาการกลไกทั้งภาคีภาครัฐ ท้องถิ่น ภาคประชาชน ภาคเอกชน วิชาการ และสื่อสารมวลชน ในการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ ทั้งระดับตำบล อำเภอ จังหวัด เขตสุขภาพ และภาคใต้รวมทั้งพัฒนาศักยภาพและเพิ่มขีดความสามารถของภาคีเครือข่าย ในการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อการเสริมสร้างสุขภาวะ.

จังหวัดสุราษฎร์ธานีพิจารณาการประเมินผลการเปลี่ยนแปลงสภาพการณ์และสิ่งแวดล้อม การใช้บังคับกฎกระทรวงผังเมืองรวมชุมชนเกาะแตน

 

วันที่ 2 พฤษภาคม 2567

นายนันธวัช เจริญวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นประธานประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาผังเมืองรวมในเขตจังหวัดสุราษฎร์ธานี ครั้งที่ 1/2567 ณ ห้องเมืองคนดี ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อพิจารณาการประเมินผลการเปลี่ยนแปลงสภาพการณ์และสิ่งแวดล้อม การใช้บังคับกฎกระทรวงผังเมืองรวมชุมชนเกาะแตน จังหวัดสุราษฏร์ธานี พ.ศ.2561 และติดตามการดำเนินงานในส่วนที่เกี่ยวข้อง กับหมวด 4 ผังกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดิน ในมาตรา 34 ที่กำหนดให้กรมโยธาธิการและผังเมือง หรือเจ้าพนักงานท้องถิ่น แล้วแต่กรณี จัดทำรายงานการประเมินผลการเปลี่ยนแปลงสภาพการณ์และสิ่งแวดล้อมการใช้บังคับผังเมืองรามตามระยะเวลาที่คณะกรรมการผังเมือง หรือคณะกรรมการผังเมืองจังหวัดกำหนด แล้วแต่กรณี

สำหรับผังเมืองรวมชุมชนเกาะแตน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ฉบับปัจจุบัน ได้ประกาศใช้บังคับเป็นกฎกระทรวงในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 135 ตอนที่ 81 ก ครั้งแรก เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2561 จนถึงปัจจุบัน ครอบคลุมพื้นที่หมู่ที่ 2 ตำบลตลิ่งงาม อำเภอเกาะสมุย โดยมีขอบเขตเป็น แนวขนานระยะ 1,000 เมตร จากชายฝั่งทะเลของเกาะแตน โดยสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้ร่วมกับเทศบาลนครเกาะสมุย ดำเนินการจัดทำรายงานการประเมินผลผังเมืองรวมชุมชนเกาะแตนจังหวัดสุราษฎร์ธานี พ.ศ.2561 ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการผังเมืองกำหนด ซึ่งแสดงข้อเท็จจริงที่ปรากฎในเรื่อง การเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน ความหนาแน่นของประชากร นโยบายหรือโครงการของรัฐบาล สภาพเศรษฐกิจและสังคม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การคมนาคมและการขนส่ง การป้องกันการเกิดภัยพิบัติ และปัจจัยอื่นที่เกี่ยวข้องกับการผังเมือง โดยคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชน.

Copyright © 2021  www.suratthani.go.th

AChecker accessibility checker compliance: WCAG 2.0 (Level AAA) Valid CSS!